ประเพณีกองข้าว

ประเพณี กองข้าว

ที่มา

                กองข้าวเป็นประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดชลบุรีโดยแท้ ที่สืบทอดต่อกันมา ตามประวัติเล่าว่าประเพณีกองข้าวจัดในหลายอำเภอ อาทิเช่น อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอพนัสนิคม ฯลฯ ครั้นกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปในบางพื้นที่ประเพณีนี้ได้เลือนหายไป

               ที่ศรีราชายังคงอนุรักษ์ไว้อย่างต่อเนื่องและเหนียวแน่นจนประทั่งกลายเป็นประเพณีเอกลักษณ์ของชาวศรีราชา โดยเฉพาะเมื่อเทศบาลเมืองศรีราชาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดงานกองข้าวศรีราชา เริ่มตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา โดยกำหนดจัดงานประเพณีระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน ของทุกปี

               ในอดีตเมื่อถึงช่วงเทศาลสงกรานต์ของทุกปีชาวบ้านจะนัดหมายกันนำสำรับข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานมากองรวมกันแล้วเชิญภูติผีทั้งหลายมากินปีละครั้ง โดยเชื่อว่าภูติผีจะไม่ทำอันตรายชีวิตครอบครัวหรือทรัพย์สินของตนเอง หลังพิธีเซ่นไหว้ชาวบ้านจะล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกัน มีการร้องรำทำเพลง การละเล่นสนุกสนาน มีเกร็ดว่าทุกคนจะไม่นำอาหารที่เหลือกลับบ้านแต่จะทิ้งไว้เพื่อเป็นทานแก่สัตว์

               เทศบาลเมืองศรีราชาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงานประเพณีกองข้าว นอกจากการกองข้าวอันเป็นหัวใจของงานแล้ว ยังได้เพิ่มกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นสีสันของงาน อาทิ รำวงย้อนยุค มวยตับจาก เพลงพื้นบ้าน ดนตรีไทยประยุกต์ ประกวดเทพีกองข้าว กีฬาพื้นบ้าน และซุ้มอาหารไทย ฯ

              ประเพณีกองข้าวจึงได้รับการยกระดับปรับตัวให้เป็นเอกลักษณ์ประเพณีที่โดดเด่น ชาวศรีราชาทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและ อนุรักษ์ประเพณีกองข้าว ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เหลือเพียงแห่งเดียวในโลก คือที่ ศรีราชา

 

ลักษณะกิจกรรม

            เมื่อถึงวันงานกองข้าวบรรดาลูกช้างของเจ้าซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงวัยกลางคนจะมาพร้อมกันยังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อนำผ้าแดงมาแขวนเป็นระบายรอบศาล จัดปูเสื่อด้านหน้าที่ตั้งเจว็ดรูปเทพารักษ์ต่างๆ หลายรูป และมีชื่อเรียกว่าเจ้าพ่อชื่อต่าง ๆ กันแล้วจึงนำขันทองเหลือง 3-4 ใบ ที่เตรียมไว้มาคว่ำลง วางเรียงกันเป็นระยะ และวางหมอนไว้ด้านหลังห่างจากขันแต่ละใบประมาณ 1 เมตร จัดที่ให้พวกพิณพาทย์นั่งอยู่ด้านหนึ่งของศาล แล้วนำหัวหมู ขนมต้นขาว ขนมต้นแดง บายศรีปากชาม ซึ่งจัดใส่โตกมาตั้งไว้บนที่ตั้งซึ่งอยู่ทางบันไดขึ้นด้านหน้าศาล และรอรับหัวหมู บายศรี ชาวบ้านที่นับถือเจ้าพ่อจะนำมาร่วมถวายเจ้าพ่อนำไปวางไว้ด้านหน้ารูปเจว็ดต่าง ๆ ประมาณ 09.30 น. บรรดาลูกช้างของเจ้าพ่อจะนั่งรวมกลุ่มอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวงพิณพาทย์ พร้อมกับตีกรับตามจังหวะไปด้วย เมื่อลูกคู่ร้องจบคนต้นบทจะร้องนำใหม่และลูกคู่ร้องตามไปเรื่อยๆ ในเนื้อร้องนั้นเรียกเจ้าว่า “พ่อ” ใจความของเนื้อร้องเป็นการเชิญเจ้า พร้อมด้วยคำเยินยอ เร่งเร้า ตัดพ้อ ที่มีคำลงท้ายด้วยสระไอทั้งหมด โดยมีเนื้อความดังนี้

เชิญเอ๋ยเชิญลงเชิญพระองค์สี่ทิศ

องค์ไหนศักดิ์สิทธิ์เชิญเนรมิตลงมา

องค์ไหนท่านใจกล้าขอเชิญรีบมาไวไว

มาเรือกลัวจะช้าเชิญมาด้วยม้ามโนมัย

พ่อมาอยู่แล้วหรือเห็นเทียนที่มืออยู่ไวไว

พ่อมาแล้วพ่อกลับไปใครเลยจะรู้ว่าพ่อมา

พ่อมาอีกแล้วหรือจะถวายเล็บมือให้ใส่

            คนต้นบทจะร้องนำวนเวียน ตามเนื้อความดังกล่าวเป็นเวลา 10 นาทีหรือมากกว่านั้น ในที่สุดคนทรงเจ้าซึ่งได้เข้าทรงมาจากบ้านแล้ว ก็เดินขึ้นมาบนศาลเป็นคนแรกพิณพาทย์จะหยุดบรรเลง ลูกช้างจะออกมาต้อนรับนำไปนั่งลงบนก้นขันที่จัดไว้ โดยนั่งหันหลังให้รูปเจว็ด และหันหน้าออกทางศาลแล้วลูกช้างก็จะถามคนทรงว่า ท่านมาจากไหน ชื่ออะไร เป็นต้น หลังจากนั้นก็จัดแจงนำเครื่องทรงที่เตรียมไว้มาแต่งให้แล้วเอาแพรสบายบ่า 2 ข้าง จัดหมากให้รับประทานจัดบุหรี่ให้สูบ ต่อมาก็จะมีคนทรงคนอื่นที่เจ้าเข้าทรงแล้วมาที่ศาลอีกสองหรือสามมีทั้งคนทรงที่เป็นผู้หญิง และ ผู้ชาย บางคนแต่งตัวสะพายแพร 2 ไหล่ ถือกั้นหยั่นมาจากบ้าน บรรดาลูกข้างต้อนรับ และซักถามดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าที่เข้าทรงที่มาถึงศาลตอนแรก ๆ นั้น ล้วนมาจากที่ไกล ๆ เป็นทำนองว่า มาเยี่ยมเยียนหรือมาแสดงความยินดีกับเจ้าที่เป็นเจ้าของสถานที่บรรดาลูกช้างนั้นจะคอยพูดคุยกับคนทรง คนทรงก็จะตอบไปตามเรื่อง ในที่สุดจะมีคนทรงคนหนึ่งบอกลูกช้างว่า ฉันจะกลับละ ลูกช้างคนหนึ่งก็จะเตรียมตัวคอยอยู่ พอคนทรงยันเท้าหงายหลังลูกช้างก็รับตัวลงนอนบนหมอนที่เตรียมไว้ ตอนนี้พิณพาทย์เริ่มทำเพลงอีกบรรดาลูกช้างก็จะเริ่มต้นร้องเชิญดังครั้งก่อน อีกสักครู่หนึ่ง คนทรงที่นอนอยู่นั้นก็จะมีเจ้าองค์ใหม่มาเข้าบรรดาลูกช้างจะให้นั่งบนก้นขัน และทำการซักถามเหมือนเช่นเดิมพิณพาทย์หยุดบรรเลงการที่เจ้าเข้าทรงอยู่ก่อนออกไป และมีเจ้าองค์อื่นมาเข้าทรงใหม่เกิดขึ้นหลายครั้ง ในที่สุดบรรดาเจ้าที่มีชื่อรวมอยู่ในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนั้นจึงมาเข้าทรงและจะอยู่นานหน่อย ลูกช้างจะเชิญให้ถวายมือคือรับรำพิณพาทย์ตามบทร้องของลูกช้างไปตามเรื่อง จะมีเจ้าหรือสมุนเจ้าเข้าทรงตอนท้ายนี้องค์หนึ่ง ชื่อ “ตาหลงคง” มีตนนับถือมาก เวลาคนทำของหายจะบนบานตาหลงคงมักจะได้ของคืนเสมอ ชาวบ้านมักบนด้วยข้าวปากหม้อกับไข่ต้ม เมื่อร่ายรำกันจนพอใจแล้ว เจ้าก็จะยกโตกขนมบายศรีขึ้นรำเรียกว่า ถวายของ เสร็จแล้วนั่งลูกช้างจะถามว่า ตอนเย็นวันนี้จะนัดกองข้าวที่ไหน เมื่อเจ้าบอกสถานที่ที่จะไปกองข้าวแก่บรรดาลูกช้างแล้ว ก็จะกลับ คนทรงบางคนเดินออกจากศาลไปโดยไปออกจากทรงที่บ้าน แต่เจ้าบางองค์ก็จะละจากคนทรงไปบนศาล

               พิธีเชิญเจ้าเข้าทรงนี้ จะกระทำติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน โดยดำเนินการในช่วงเช้าจนถึงเวลาใกล้เที่ยงของแต่ละวัน

               ส่วนงานพิธีตอนเย็น เมื่อได้เวลาประมาณ 16.30 น. บรรดาลูกช้างจะพากันไปยังสถานที่นัดหมายซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกันทุกปี คือ วันแรกจะจัดที่บริเวณชุมชนตอนบนของเมืองที่ทุ่งนาหนองหญ้าปล้องซึ่งอยู่ด้านเหนือของวัดราษฎรอำรุง โดยหันหน้าไปทางศาลเจ้าพ่อเขาน้อย วันที่สองจัดที่บริเวณตอนกลางเมือง

               บริเวณที่นาหลังวัดใหม่ (ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้าฟอรั่มพลาซ่า) โดยหันหน้าไปทางวัดป่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลกระบอกทอง ส่วนวันที่สามจัดที่บริเวณชุมชนตอนล่าง ณ ที่ว่างของคลองบางปลาสร้อยตอนที่อยู่ทางด้านตะวันตกของวัดเนินสุทธาวาส (ปัจจุบันได้กลายเป็นตึกไปหมดแล้ว)

               เมื่อมาถึงสถานที่ที่กำหนด บรรดาลูกช้างบางคนจะปูเสื่อ วางขันและ หมอนตลอดจนเตรียมของอื่น ๆ มีพิณพาทย์บรรเลงเพลงประกอบเหมือนกับพิธีในตอนเช้าจัดสร้างศาลเพียงตาทางตะวันออกหนึ่งศาล ห่างจากที่ปูเสื่อไว้ประมาณ 10 เมตร และนำขนมต้มขาว ขนมต้มแดง บายศรีปากชามมาวางไว้บนศาลเพียงตาในช่วงนี้บรรดาชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานพร้อมด้วยข้าวสุกอย่างน้อย 1 ขัน มาร่วมพิธี บ้านใดที่นำอาหารมา ก็ชักชวนเพื่อนมากันหลาย ๆ คน พร้อมกับทำอาหารพิเศษมาตามจำนวนคนมากน้อย

               เมื่อได้เวลา พวกลูกช้างจะให้สัญญาโดยให้พิณพาทย์บรรเลงเพลง กลองจะเริ่มตี แล้วลูกช้างที่เป็นต้นบทจะเริ่มร้องเชิญนำ ลูกคู่จะร้องตามทีละวรรคพร้อมกับตีกรับดังเช่นพิธีตอนเช้า เมื่อคนทรงซึ่งเจ้าได้เข้าทรงมาแต่บ้านแล้วมาถึงศาลบรรดาลูกช้างจะหยุดร้องและ ต้อนรับคนทรงดังเช่นตอนเช้า คำร้องเชิญเจ้าอีกสำนวนเป็นดังนี้

ร้อยเอ๋ยร้องเชิญ ข้าน้อยขอเชิญ

เจ้าฟ้าหงส์เหิรเขาไปเชิญพ่อมา

องค์ไหนท่านศักดิ์สิทธ์เชิญเนรมิตลงมา

องค์ไหนที่ใจกล้าหน่วงหนักชักช้าอยู่ว่าไร

มาเรือกลัวจะช้าเชิญมาด้วยม้ามโนมัย

ลงมาที่เทียนหลักขอให้ปักลงมาที่เทียนไชย

องค์ไหนท่านมาก่อนได้ถามข่าวร้อนข่าวไฟ

มาแล้วขออย่าแวะเวียนทำให้เปลืองเทียนเปลืองไฟ

การงานเขาให้หาหน่วงหนักชักช้าอยู่ว่าไร

พ่อมาอยู่แล้วหรือเห็นเทียนที่มืออยู่ไวไว

พ่อมาแล้วพ่อกลับไปใครเลยจะรู้ว่าพ่อมา

จงเอ็นดูแก่นางคนทรง นางนิ่มอนงค์พนมมือไว้

เมื่อพ่อลุกขึ้นลูกจะให้ทรงผ้านั่งลงก็จะทานน้ำมันให้

แป้งกระแจะน้ำมันจันทน์อบเอ๋ยหอมควันนี่กระไร

อีกทั้งเอาแหวนมาให้ถือเอาเล็บมือมาใส่

              คนทรงจะสั่งให้นำสำรับคาวหวานมาวางเรียงแถวห่างจากที่เข้าทรงประมาณ 6 เมตร และวางเรียงตรงไปทางศาลเพียงตา อาจเรียงเป็น 2 แถวหรือ 4 แถว ตามจำนวนมากน้อยของสำรับที่ชาวบ้านที่นำมาเข้าพิธี ในพิธีตอนเย็นนี้จะมีเจ้าเข้าทรงแล้วกลับไปก่อน และมีการเชิญเจ้าองค์อื่นเข้าทรงใหม่เพียงหนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้นในระหว่างนี้บรรดาผู้ที่ไปเที่ยวก็จะมองหาพวกหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง และหมายตากันไว้ เมื่อได้เวลาคนทรงจะไปที่ศาลยกถาดบายศรีขึ้นรำถวายของ แล้วสั่งให้เจ้าของสำรับแบ่งข้าว และของคาวหวานออกมาวางกองไว้ที่ใบตองหน้าสำรับของแต่ละคน โดยคนทรงอธิบายว่าเมื่อถึงปีหนึ่ง ๆ ก็นำอาหารมาเลี้ยงดูภูติผีที่หิวโหยให้อิ่มหมีพีมันเสีย 3 วัน เขาจะได้ไม่มารบกวน บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า ที่เรียกพิธีนี้ว่า “พิธีกองข้าว” ก็คงเป็นเพราะเอาข้าวและกับออกมากองไว้รวมกันนั้นเอง ส่วนคนทรงจะเดินกลับมาเอง บางคนเจ้าจะออก ณ ที่นั้นเอง จากนั้นชาวบ้านก็จะมองหาที่เหมาะๆ แล้วยกสำรับกับข้าวไปตั้งนั่งล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกันเป็นที่สนุกสนาน ที่รู้กันก็จะเรียกเข้ามาร่วมวงด้วย เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้านซึ่งเป็นเวลาอาทิตย์ตกแล้ว

               ประเพณีกองข้าวในปัจจุบันปรากฏเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เหลือในประเทศไทยที่อำเภอศรีราชาเพียงแห่งเดียว สำหรับประเพณีกองข้าวของศรีราชานั้น ในช่วงสงกรานต์ เลยไปประมาณ 3-4 วัน ชาวบ้านได้ชักชวน นำอาหารคาวหวานไปที่ชายทะเลแบ่งอาหารคนละเล็กละน้อยใส่กระทงรวมกันไว้ริมหาดจุดธูปเทียนแล้วร้องเชิญภูตผีปีศาจที่หิวโหยมากินอาหารเสร็จแล้วก็ตั้งวงรับประทานอาหารร่วมกันโดยไม่ให้เลือกกลับบ้าน

               ในปัจจุบัน ประเพณีกองข้าวของชาวศรีราชาชาจะกระทำกันประมาณวันที่ 19-21 เมษายน ของทุกปี โดยจัดขึ้นที่บริเวณริมเขื่อนหน้าบ้านพักนายอำเภอ บริเวณ เกาะลอย แหลมฟาน แหลมท้าวเทวา และที่บริเวณสำนักงานตำบลศรีราชา งานจะเริ่มเวลา 17.00 น. โดยที่ชาวบ้านจะออกจากบ้านพร้อมข้าวของที่เตรียมไว้ ไปถึงสถานที่นัดหมาย จัดที่นั่ง ปูเสื่อ จัดอาหารคาวหวานเครื่องดื่ม พร้อมธูปเทียน เมื่อได้เวลาคนมามากพอสมควร ผู้นำทางพิธีคนหนึ่งจะขออาหารจากชาวบ้านมาใส่กระทงที่เตรียมไว้จุดธูปเทียนพร้อมกันรวมไปปักไว้ใกล้ๆ กระทง แล้วร้องเชิญผีสางเทวดาทั้งหลายให้มารับเครื่องสังเวย และอำนวยพรให้ผู้มีความศรัทธานำอาหารมาเช่นสังเวยอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขายคล่องได้กำไรงาม ถ้าปลูกพืชก็ขอให้ได้เก็บเกี่ยวมากๆ ออกทะเลหาปลาก็ขอให้จับปลาได้มาก ๆ ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง

               หลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นลง พอธูปเผาไหม้หมดดอกชาวบ้านก็ล้อมวงรับประทานในสำรับ ร่มกันร้องรำทำเพลง ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้านก็นำอาหารที่เหลืออยู่ในสำรับทิ้งไว้ให้ทานแก่สัตว์โดยจะไม่นำกลับบ้านเด็ดขาด

 

ที่ตั้งจัดกิจกรรม

            ที่อำเภอ ศรีราชา จังหวัด ชลบุรี บริเวณริมเขื่อนหน้าบ้านพักนายอำเภอ บริเวณ เกาะลอย แหลมฟาน แหลมท้าวเทวา และที่บริเวณสำนักงานตำบลศรีราชา

 

เวลาจัดกิจกรรม

            เริ่มเวลา 17.00 น. จัดประมาณวันที่ 19-21 เมษายน ของทุกปี

 

 

รูปภาพ

4

ภาพ : บรรยากาศประเพณีกองข้าว

(ที่มา : http://oknation.nationtv.tv/blog/chartsiam/2014/04/21/entry-2)

 

5

ภาพ : โต๊ะเครื่องเส้นไหว้

(ที่มา : http://oknation.nationtv.tv/blog/chartsiam/2014/04/21/entry-2)

 

6

ภาพ : การทำพิธี “กองข้าว”

(ที่มา : http://www.banmuang.co.th/news/region/13992)