ประเพณีเอ็งกอ

ที่มา

                เอ็งกอ เป็นศิลปะการแสดงของชาวจีน ที่มาพร้อมกับชาวจีนอพยพ ที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ร่วม 100 ปี และได้อนุรักษ์ศิลปะนี้มาตลอดหลายช่วงอายุบรรพบุรุษ ปัจจุบัน เอ็งกอ ได้กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวอำเภอพนัสนิคมไปแล้ว และได้ร่วมกันจัดตั้ง เอ็งกอ ขึ้นมาก็เพื่อความสามัคคี และการออกกำลังกาย เป็นสำคัญต้นกำเนิดของเอ็งกอ ตามประวัติศาสตร์ของประเทศจีนกล่าวไว้ว่า ณ ที่เมืองหนึ่งของจีน มีพวกกบฏได้ทำการยึดเมืองและกระทำการไม่เหมาะสม จึงทำให้เหล่าขุนนาง เศรษฐี ประชาชน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ได้รวมพลังกัน เพื่อที่จะต่อสู้และต้องการให้เมืองที่ตนอาศัยอยู่ ได้กลับคืนมา จึงมีคนกลุ่มนี้ซึ่งรวมเอาบรรดาชนชั้นต่าง ๆ ร่วมแรงร่วมใจกัน และมีความสามัคคีกัน ได้คิดหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะเข้าเมืองโดยไม่ถูกพวกกบฏจับได้ และที่สำคัญคือต้องจำหน้าไม่ได้ คนกลุ่มนี้ จึงคิดการแสดงขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้มีความแตกต่างกันกับการแสดงที่เป็นชุดงิ้วและเรียงขานว่า เอ็งกอ และวันสำคัญก็มาถึง เหล่าคนกล้า ได้แต่งกายเป็นชุดรัดกุม เหมือนทหารที่ออกศึก ในรูปแบบการแสดงด้วยการเต้นตีไม้ สร้างความเร้าใจให้ผู้คนสนใจทำให้ทหารฝ่ายกบฏแม้กระทั่งขุนนางกังฉินก็ไม่สามารถจำหน้าคนเหล่านี้ได้ เนื่องจากมีการวาดหน้าทั้งใบหน้าแต่งเติมสีสันที่ฉูดฉาด ประชาชนที่อยู่ในเมืองที่ทราบข่าวและเป็นพวกเดียวกัน ได้เตรียมซ่อน มีด ซ่อนดาบ ไว้ให้พวก เอ็งกอ เมื่อการแสดงเริ่มต้น ทุกคนต่างสนใจที่ชม แม้ขุนนางกังฉินก็ชื่นชม บรรดาพวกกบฏต่างก็ชื่นชม เมื่อการแสดงได้ล่วงเลยมาพอสมควร ก็ถึงเวลาที่ผู้กล้าทั้งหลายที่แสดง เอ็งกอ ได้เปลี่ยนมาเป็นคณะกู้เมือง และสามารถจับพวกกบฏ ขุนนางกังฉินได้ ที่สำคัญคือได้เมืองกลับคืนมาสำเร็จ

               ตามประวัตินั้น คล้ายกับวีรบุรุษเขาเหลี่ยงซาน ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียด จะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แทรกอยู่อย่างมาก เช่น นักแสดงเอ็งกอ ได้แต่งหน้าและท่าทาง ให้เหมือน บู้ซ้ง พระจีน และการแสดงแต่ละครั้งถ้าเป็นชุดสมบูรณ์ ต้องใช้ผู้แสดงจำนวน 108 คน แต่ในปัจจุบันเรามักจะเห็นไม่ครบ เนื่องจากการแสดง การเตรียมความพร้อมทั้งทางกายจิตใจ เสื้อผ้านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือหลายอย่าง อีกสาเหตุก็คือ การมีการแสดงเอ็งกอครบ จำนวน 108 คนนี้มักจะมีเหตุการณ์สูญเสียชีวิตของนักแสดงเอ็งกอเกิดขึ้น จึงทำให้ผู้แสดงมีจำนวนไม่ครบจนทุกวันนี้ และส่วนใหญ่ที่แสดงโชว์ หรือออกงานประเพณีต่าง ๆ มักจะมีผู้แสดงอย่างต่ำ 40 คนขึ้นไปเสมอ ซึ่งไม่รวมพวกตีล้อ เป่าเขาควาย ตีกลองใหญ่ ฉาบเล็ก ฯลฯ

            ปัจจุบัน การแสดงเอ็งกอ ได้ดำเนินการฝึกซ้อม ณ มูลนิธิสว่างกุศลธรรมสถาน และโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาส สาเหตุที่ใช้สถานที่ดังกล่าว เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งชุมชนสามารถสัญจรไปมาสะดวก และนักเรียนนักแสดง ได้เปิดกว้างรับจากนักเรียนทั่วไป ทั้งในสังกัดเดียวกันและนอกสังกัด รวมทั้งเด็ก ๆ ที่มีใจรัก

 

ลักษณะกิจกรรม

                   ก่อนการฝึกซ้อม ต้องเชิญผู้ใหญ่ทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้า ตามความเชื่อถือของชาวจีนคือ ต้นข้าว ที่เป็นต้นกำพร้าแต่มีสภาพสมบูรณ์ (เหตุผล เนื่องมาจากต้องการให้ต้นข้าวสามารถแตกหน่อ  ออกกอเผยแพร่ได้) และแห่รอบตลาดเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นนำไปประทับ ณ สถานที่ฝึกซ้อม มีโต๊ะบูชาเทพเจ้า และปักร่มไว้บนโต๊ะ (ร่มต้องเป็นร่มกระดาษที่คนจีนนิยมใช้) ให้นักแสดงกราบไหว้เคารพบูชา ทุกครั้ง และทุกวันต้องมีของมงคล โดยเฉพาะขนมจันอับ ผลไม้ มาไหว้บูชา น้ำดื่ม น้ำชา ต้องไม่ขาด การฝึกซ้อมจะเน้นกำลังของร่างกาย แขน ขา ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งนี้เพื่อความพร้อมเพรียงและกระบวนท่าที่สวยงาม

                ก่อนการแสดง ต้องนำขนมไหว้ของชาวจีน ที่เรียกว่า ง่วนก้วย นำมาไหว้และเต้นแสดงให้เทพเจ้าเห็น หลังจากนั้นนำขนมไหว้ ให้ผู้แสดงรับประทาน  คนละเล็กละน้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นสิริมงคลในการแสดง ไม่ให้เกิดอุปสรรคใด ๆ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และทุกครั้งที่กระทำตามนี้ ไม่เคยบังเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ไม่ดีเลย

                   การแสดงจะใช้ผู้ถือธง (เปรียบเสมือนการให้สัญญาณในการรบ) โดยไม้ไผ่ทั้งลำและธงที่มีพื้นสีแดง ภาษาจีนอยู่กลางธงเป็นอักษรที่กล่าวถึง ชาวเม่งจื้อ (เม่งจื้อ แปลว่า เทพเจ้า) และมียอดโคมไฟ หรือที่เรียกว่า เต็งรั้ง ห้อยแขวนอยู่ที่ปลายยอดไม้ไผ่ มีนักแสดงที่เป็นผู้ถืองู คอยให้จังหวะในการแสดง และนักแสดงอื่น ๆ ก็จะเต้นประกอบจังหวะกันไป เช่น

  1. ท่าสอดไม้สอดกลอง
  2. ท่าตีไม้ตีกลอง
  3. ท่าหมอบพื้น
  4. ท่ายกแขนสูงในการตีไม้
  5. ท่าทางประกอบการใช้หน้า ฯลฯ

 

การแต่งกาย

               การแต่งหน้านักแสดง ถ้าทุกท่านเห็นการแสดง เล่นงิ้ว” การแต่งหน้า จะคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าใช้ชุดการแต่งหน้าของ งิ้ว มาแต่งจะแพง เนื่องจากแป้งพับบนใบหน้า สีที่ทาจะเป็นอย่างดี มีราคาแพง ดังนั้น เอ็งกอ มักจะใช้แป้งทาหน้าที่มีการขายอยู่ที่เยาวราช นำมานวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน และผสมน้ำเพื่อทาบนใบหน้าของนักแสดง ส่วนสีสันเช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีดำ สีเขียว จะขายเป็นหลอด ใน 1 ชุด เหมือนกับสีที่ใช้กับการวาดเขียนของนักเรียน แต่จะเป็นสีที่แพง ช่างแต่งหน้าจะทำการวาดบนใบหน้า เช่นนักแสดงผู้ใด หน้าดุขึงขัง ก็มักจะวาดให้ดูหน้าเกรงขาม แต่ถ้าผู้ใด มีใบหน้าหวาน ก็วาดหน้าให้อ่อนช้อย

 

นักแสดง

               ผู้แสดง เอ็งกอ ในสมัยก่อนมักจะใช้ผู้ที่มีใจรัก และมีอายุ 17 ปี ขึ้นไป ไม่เกิน 35 ปี แต่ปัจจุบันหลังจากได้ฟื้นฟูเพื่อสืบสานตำนานเอ็งกอจะมีผู้แสดงที่อายุต่ำสุดเคยทำการแสดงคือ 4 ขวบ จนถึงอายุไม่เกิน 25 ปี ทั้งนี้เพราะ เพื่อต้องการให้เด็ก ๆ และเยาวชน ได้รักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป

 

เวลาจัดกิจกรรม

               ช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี

 

สถานที่จัดกิจกรรม

               อ.พนัสนิคม

 

225639

ที่มาข้อมูลและรูปภาพ : http://www.vcharkarn.com/blog/114525/90537