ประเพณีวิ่งควาย และ วิ่งควายคราดนา

ประเพณี วิ่งควาย

ภาพจาก : http://www.bloggertrip.com/buffaloracefestival2015/

ที่มา 

               ตั้งแต่โบราณมา กระบือหรือควายเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณกับชาวนา ไถนา ทำงานในท้องนามาอย่างเหน็ดเหนื่อยหลายเดือน เพื่อเป็นการตอบแทนความดีของควาย เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวนาจะช่วยกันอาบน้ำ แต่งตัวให้ควายของตัวเองจนสวยงามด้วยผ้าแพรและ ลูกปัด เพื่อเป็นการทำขวัญควาย หยุดงานในนาแล้วจูงควายเข้าเมืองมาเพื่อให้ควายได้พักผ่อน และได้พบปะสังสรรค์ เลี้ยงดูควายอย่างดี จัดให้มีการแข่งวิ่งควายที่จัดสืบเนื่องมากว่า 100 ปี เกิดเป็นประเพณีวิ่งควายประจำจังหวัดชลบุรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปไกล

              ประเพณีวิ่งควาย เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีของจังหวัดชลบุรี และเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่จัดมายาวนานกว่า 100 ปี

               ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน จุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมของไปถวายวัด ปัจจัยไทยธรรมได้พักผ่อนและได้สังสรรค์กันระหว่างชาวบ้านซึ่งเหนื่อยจากงานและให้ควายได้พักเนื่องจากต้องตรากตรำในการทำนา ปัจจุบันประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีของจังหวัดชลบุรี โด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ

ภาพจาก : http://www.bloggertrip.com/buffaloracefestival2015/

 

               พิธีกรรมประเพณีวิ่งควาย จะจัดในช่วงเช้า เพื่อให้ควายได้พักจากการไถนา ชาวไร่ชาวนาจะนำควายมาประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ชาวไร่ชาวนาที่มาด้วย ก็ขี่ควายเดินไปตามตลาดและวิ่งอวดประกวดกันเป็นที่สนุกสนาน ปัจจุบันนำควายมาประกวดความสมบูรณ์และประลองฝีมือโดยจัดให้มีการแข่งขันวิ่งควาย

 

              ภาพจาก : http://www.bloggertrip.com/buffaloracefestival2015/

ลักษณะกิจกรรม

               มีลักษณะเป็นการเล่นขี่ควายแข่งขันวิ่งเร็วกัน โดยผู้เล่นแต่ละคนจะขึ้นขี่หลังควายของตนเองอยู่หลังเส้นเริ่ม เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่มเล่นก็จะควบคุมควายให้วิ่งไปให้เร็วที่สุดแข่งขันกันไปให้ผ่านเส้นชัย ควายใครวิ่งผ่านเส้นชัยก่อนจะเป็นผู้ชนะ

 

เวลาจัดกิจกรรม

               โดยจะจัดงานก่อนวันออกพรรษา 1 วัน หรือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11

 

สถานที่จัดกิจกรรม

                สนามหน้าอำเภอเมือง จ.ชลบุรี

อ้างอิง

http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/folk-sports-games-and-martial-arts/261-sport/411–m-s

https://matriarchatblog.com/ประเพณีวิ่งควาย/

 

ประเพณี วิ่งควายคราดนา

ภาพจาก : http://www.komchadluek.net/news/regional/283119

ที่มา 

               เกษตรกรชาวนาไทยที่คุ้นเคยกับชีวิตการทำนามาแต่โบราณ โดยมี  ควาย  ที่เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใช้แรงงานในการพลิกผืนดินเพื่อทำนาปลูกข้าวมาตลอด จนกระทั่งทุกวันนี้วิถีชาวนาไทยได้เปลี่ยนแปลงวิถีของตนเองไปมากมายด้วยเครื่องทุ่นแรงที่สะดวกสบายกว่า นั่นคือ การใช้เครื่องยนต์ประกอบการทำนาที่ทดแทนแรงงานวัวควาย ตลอดจนมีการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลมากขึ้น จึงทำให้รูปแบบการทำนาของคนไทยบางพื้นที่สูญหายไป และมีผลต่อเนื่อง ทำให้วัวควายอันเป็นสัตว์เลี้ยงคู่แผ่นดินลดจำนวนน้อยลง

ภาพจาก : http://www.komchadluek.net/news/regional/283119

ลักษณะกิจกรรม

               การแข่งขันคราดนา-ควายดี ต้องจัดขึ้นในพื้นที่นาดำมีน้ำโคลนขังแฉะ สนามแข่งมีความยาวประมาณ 150 เมตร พื้นผิวดินต้องเรียบ ไม่มีหลุมบ่อ หากไม่เรียบอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ส่วนควายที่นำมาวิ่งแข่งจะมีอยู่ 5-6 รุ่น คือ มีรุ่นจิ๋วพิเศษ รุ่นจิ๋วเล็ก รุ่นจิ๋วใหญ่ รุ่นเล็ก และรุ่นใหญ่ บ้างก็แยกย่อยรุ่นลงไปอีก โดยมีกฎเกณฑ์การแบ่งแยกรุ่นควายให้ดูจากฟันของควายว่ามีหักไปกี่คู่ นั่นก็เป็นเกณฑ์อายุของควายด้วย จึงสามารถจัดเข้ารุ่นและได้ขนาดของควายที่เท่าเทียมกัน

               เหล่าบรรดาเจ้าของควายเองก็รักทะนุถนอมเลี้ยงดูควายมาเป็นอย่างดี ควายแต่ละตัวจะมีความสมบูรณ์แข็งแรง มีการฝึกฟิตซ้อมมาก่อนเพื่อความพร้อมในการแข่งขัน มีความเคยชินกับสนามแข่งขัน เพราะควายบางตัวอาจตื่นสนาม ฉะนั้นกรรมการปล่อยควายวิ่งแข่งก็ต้องอาศัยความชำนาญในการปล่อยตัวให้พร้อมกัน ส่วนการวิ่งเข้าเส้นชัยก็ยึดกติกาว่า ทั้งควายและคนวิ่งกับควายต้องเข้าเส้นชัยด้วยกันจะถือว่าเข้าเส้นชัยอย่างสมบูรณ์ หากควายหลุดวิ่งไปแต่คนวิ่งล้มอยู่กลางสนามก็ถือว่าไม่ผ่านจัดให้แพ้ไป

ภาพจาก : http://www.komchadluek.net/news/regional/283119

 

เวลาจัดกิจกรรม

               จัดขึ้นตามช่วงฤดูกาลในท้องถิ่นที่มีการทำนาอยู่เป็นประจำ

 

สถานที่จัดกิจกรรม

               อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี บริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านหนองน้ำเขียว

อ้างอิง

http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/1881

วิ่งควายคราดนา